Translate

วันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2556

ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 2 ภาพนี้ เป็นตัวอย่างของภาพที่ถูกเขียนขึ้นด้วยมือซ้ายของ ตี๋ - ชิงชัย อุดมเจริญกิจ


ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 2 ภาพนี้ เป็นตัวอย่างของภาพที่ถูกเขียนขึ้นด้วยมือซ้ายของ ตี๋ - ชิงชัย อุดมเจริญกิจ

 













ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ 2 ภาพนี้ เป็นตัวอย่างของภาพที่ถูกเขียนขึ้นด้วยมือซ้ายของ ตี๋ - ชิงชัย อุดมเจริญกิจ ศิลปินผู้สูญเสียมือข้างขวาไปจากเหตุการณ์สลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม พ.ศ.2551
      
       กำลังจะถูกนำไปจัดแสดงพร้อมผลงานอีกหลายชิ้นของเขา ผ่านนิทรรศการ Right then Left เพื่อเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่สูญเสียในสิ่งที่ตัวเองเคยมี ให้สามารถก้าวผ่านความท้อแท้และอุปสรรค จนสามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้
      
       และตี๋อยากให้ทุกคนที่รู้สึกว่าตนเองสูญเสีย ลองปรับวิธีคิดว่า การสูญเสียสิ่งหนึ่งไป อาจหมายถึงการได้มาซึ่งอีกสิ่ง
      
       
เหมือนเช่นเขา ที่การสูญเสียมือข้างขวาไป ทำให้ค้นพบในศักยภาพของมือข้างซ้าย ที่เคยถูกทิ้งให้เป็น มือสำรอง มาโดยตลอด
      
       “เราได้ใช้มืออีกข้าง ที่ปกติเคยใช้ล้างก้น (หัวเราะ) ได้เห็นคุณค่าของมัน ใช้หยิบข้าวกิน มือซ้ายเดี๋ยวนี้มันดีใจมากเลย เมื่อก่อนมันน้อยใจ ถูกใช้แต่ในเรื่องที่คนรังเกียจ พอมาวันหนึ่ง มือขวามันบ๊ายบาย ฉันไม่ไหวแล้วนะ มือซ้ายก็บอกว่า นี่แหล่ะ เป็นโอกาสที่ฉันจะได้ทำในสิ่งที่มือขวาทำ แต่ขณะเดียวกันฉันก็ยังทำหน้าที่เดิมอยู่ดี”


  ความคิดที่มองโลกไปในแง่บวกเช่นนี้ เคยถูกส่งผ่านอีเมลไปยังมิตรสหายมาแล้วนักต่อนัก และครั้งนี้เป็นโอกาส ที่ตี๋จะใช้ภาพเขียน เป็นสื่อกลางส่งความปรารถนาดีไปยังอีกหลายๆคนที่เขาไม่รู้จัก แต่ยังรักที่จะปีนต้นท้ออยู่นั่น
      
       “คนที่เคยมีร่างกายครบ 32 พอวันหนึ่งมีไม่ครบ ทำให้ไม่มีกำลังใจใช้ชีวิต จนต้องหยุดทำงาน รวมถึงคนที่รู้สึกท้อแท้และเด็กที่ด้อยโอกาส อยากให้มองมาที่ผม เพราะผมอยากเป็นกำลังใจให้พวกเขา
      
       ผมอยากบอกพวกเขาว่า เฮ้ย.. คุณยังมีอยู่นะ สิ่งที่ก่อนหน้านี้คุณก็ไม่เคยใช้งานมัน มีเยอะแยะเลย ในร่างกาย”
      
       ตี๋บอกพร้อมใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยพลังในการใช้ชีวิต ในวันที่เปิด ร้านชินตา ณ ชุมชน 70 ไร่ คลองเตย ให้เราได้เข้าเยี่ยมเยือน ซึ่งมันเป็นทั้ง ที่พักอาศัย สตูดิโอสร้างงาน แกลเลอรี่ โรงเรียนสอนศิลปะเด็ก ที่เก็บค่าเรียนต่อหัวเพียง 10 บาท และร้านกาแฟ
      
       ทุกสิ่งที่สรรหามาไว้ท่ามกลางบรรยกาศ ซึ่งถูกเรียกว่า “ชุมชนแออัด” นี้ เกิดขึ้นมาจากความคิดของตี๋ที่เห็นว่า ทำไมคนในชุมชนจะมีสิทธิ์เสพศิลปะและรื่นรมย์ในชีวิต แบบคนภายนอกไม่ได้
      
       เช่นกันว่า รายได้ส่วนหนึ่งจากการแสดงผลงานครั้งนี้ เขาตั้งใจที่จะมอบให้ มูลนิธิส่งเสริมการพัฒนาบุคคล (Mercy Center) เพื่อ เป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนศิลปะ หลังจากที่ครั้งหนึ่ง อดีตเด็กชายผู้เกิดและเติบโตในชุมชนคลองเตย ท่ามกลางชีวิตที่สุ่มเสี่ยงต่อการเดินทางผิด เช่นเขา เคยได้รับโอกาสและความช่วยเหลือจากมูลนิธิฯ มาโดยตลอด
      
       “บาทหลวง โจเซฟ เอช ไมเออร์ หรือ คุณพ่อโจ ท่าน เป็นนักบวชที่ให้อย่างเดียว หาเงินมาเข้ามูลนิธิฯ และผมก็เคยได้รับความช่วยเหลือจากท่าน เคยคิดมานานแล้วว่า จะหาทางคืนให้สังคมได้อย่างไรบ้าง ตอนนี้ผมมีโอกาส มีช่องทางทำนิทรรศการแสดงผลงาน จึงตั้งใจจะนำรายได้ส่วนหนึ่งไปช่วย”

 ภาพเขียนส่วนใหญ่ในนิทรรศการ นอกจากจะเป็นภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รวมถึงภาพ “ช้าง” ที่ตี๋เขียนขึ้นด้วยมือซ้าย ยังเป็นภาพเขียนในแนว เอ็กซเพรสชั่นนิสม์ (Expressionism) ที่ตี๋นำเสนอด้วยเทคนิคที่เรียกว่า สื่อผสม (Mixed Media)
      
       “ที่เลือกเขียนภาพในหลวงกับพระราชินี เพราะผมชอบเขียนภาพ Portrait เขียนภาพเหมือนคน แต่ก่อนหน้านี้ ผมชอบเขียนภาพช้างในแนวเอ็กซเพรสชั่นนิสม์มาก่อน เพราะเป็นอะไรที่สนุกสนาน สามารถใส่อารมณ์และเล่นกับพื้นผิวของงานได้เยอะ
      
       พอมาเขียนภาพในหลวงกับพระราชินีในแนว นี้ การที่จะเอาวัสดุมาเล่นกับพื้นผิวของใบหน้าคน ที่ยิ่งเป็นบุคคลสำคัญ ต้องคิดหนักเลย แต่ผมกล้าที่จะทำ เพราะผมไม่ได้มีเจตนาที่ไม่ดี และ ผมก็เคยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จฯท่าน”
      
       ดังที่เราเคยรับทราบจากข่าวว่า เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานพระราชวโรกาสให้ “ตี๋” พร้อมภรรยา เข้าเฝ้าฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระบรมสาทิสลักษณ์ ที่ตี๋เขียนขึ้นด้วยมือซ้าย และทรงมีพระราชปฏิสันถารว่า “เก่งมาก”

      
       “ผมมองย้อนกลับไปดูการทรงงาน ศิลปะของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเปิดแง่คิดให้คนมองว่า ทรงเปิดกว้างขนาดไหน เห็นได้จากภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงนำเสนอให้มีลักษณะเป็นมิติ เป็นงานศิลปะแบบคิวบิสม์(cubism) เราเป็นคนทำงานศิลปะ ก็เลยไม่กลัวไง มีความสุข งานที่ออกมา ก็เลยดูออกว่า คนที่ทำมีความสุข” 

 และแทนผู้ชมจะมองว่า รูปแบบศิลปะที่ตี๋เลือกมานำเสนอภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ เป็นสิ่งไม่เหมาะไม่ควร เขากลับอยากให้มองไปที่ความหมายอันแท้จริงที่พยายามจะสื่อสารกับผู้ชม มากกว่า
      
       “ลักษณะพื้นผิวของงานที่พระ พักตร์ของทั้งสองพระองค์ เปรียบเสมือน ร่องรอยของกาลเวลา ที่บันทึกไว้ว่า ตลอดมาทั้งสองพระองค์ ทรงงานเพื่อประชาชน เสด็จไปยังทุกพื้นที่ๆทุรกันดาร ผมอาจจะพูดในทุกสิ่งที่รู้สึกออกมาเป็นคำพูดได้ไม่หมด แต่ทุกความรู้สึกที่ผมมีต่อทั้งสองพระองค์ ได้ถูกบันทึกไว้บนภาพเขียนของผมแล้ว”
      
       ภาพเขียนทั้งหมดในนิทรรศการครั้งนี้ จึงเหมาะจะเป็นสิ่งแทนกำลังใจจาก “ตี๋” ผู้ไม่มีท้อ เป็นอย่างยิ่ง
      
       นิทรรศการ Right then Left วันที่ 11 ตุลาคม - 5 พฤศจิกายน พ.ศ.2554 ณ Club Arts Gallery by the river ซ.วัดระฆัง วันแรกเปิดนิทรรศการ เวลา 18.00น. โดยมี บาทหลวง โจเซฟ เอช ไมเออร์ เป็นประธาน สอบถาม โทร.0-2866-2143

 Text by  ฮักก้า  Photo by  ศิวกร เสนสอน

                                     ขอขอบคุณภาพเเละข้อมูลจาก

 http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9540000126324
 

ไม่มีความคิดเห็น: