Translate

วันพุธที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปฏิทินเทิดพระเกียรติ ชุด “ราชกุมารีนารีรัตน์ 6 ทศวรรษจรัสเจริญ”



ปฏิทินเทิดพระเกียรติ ชุด “ราชกุมารีนารีรัตน์ 6 ทศวรรษจรัสเจริญ” 

ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ประจำปีพุทธศักราช 2558

   เนื่อง ในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมายุ 60 พรรษา สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในปีพุทธศักราช 2558 นี้ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ สำนึกในพระกรุณาธิคุณ ได้จัดทำปฏิทินเทิดพระเกียรติ ชุด “ราชกุมารีนารีรัตน์ 6 ทศวรรษจรัสเจริญ” ประจำปีพุทธศักราช 2558

 ซึ่ง มีความงดงามและทรงคุณค่าด้วยพระสาทิสลักษณ์ ผลงานศิลปิน ยุทธกิจ ประสมผล และภาพวาดพรรณไม้ในพระนามาภิไธย พร้อมพระราชประวัติและพระกรณียกิจ เพื่อถวายความจงรักภักดีต่อพระองค์ผู้ทรงเป็นรัตนะในดวงใจพสกนิกรไทยตลอดกาล




เจ้าหญิงน้อยแห่งสยา 

 “สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า สิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์” เสด็จพระราชสมภพ เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน ปีพุทธศักราช 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังความปีติยินดีแก่พสกนิกรไทยทั่วหล้า




 ทูลกระหม่อมน้อย 

 สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ หรือ “ทูลกระหม่อมน้อย” ของเหล่าข้าราชบริพารในวังและประชาชนไทย ทรงมีพระอัธยาศัยร่าเริงไม่ชอบ อยู่นิ่งเฉย และโปรดการวิ่งเป็นที่สุด สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชชนนี จึงทรงตั้งพระฉายาให้ด้วยความเอ็นดูว่า “สลาตัน”




 เทพรัตนะแห่งวรรณศิลป์ 

พระองค์โปรดการเขียนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และทรงมีพระปรีชาสามารถทางด้านร้อยแก้ว และร้อยกรองเป็นอย่างยิ่ง พระอัจฉริยภาพด้านวรรณกรรมของพระองค์ แสดงให้เห็นผ่านผลงานมากมายหลายภาษา ทั้งภาษาบาลี สันสกฤต จีน เขมร อังกฤษ ฝรั่งเศส และเยอรมัน บทพระราชนิพนธ์ที่รู้จักกันดี คือ พุทธศาสนสุภาษิตคำโคลง




  เจ้าฟ้าอัจฉริยบัณฑิต 

ทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกที่สอบเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาภายในประเทศ อย่าง สามัญชนด้วยพระองค์เอง และทรงสำเร็จการศึกษาอักษรศาสตรบัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง เหรียญทองจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
       จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อระดับปริญญามหาบัณฑิต พร้อมกัน 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยศิลปากร และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทรงสำเร็จการศึกษาชั้นสูงสุดปริญญาดุษฎีบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร




 สยามบรมราชกุมารี 

วันที่ 5 ธันวาคม ปีพุทธศักราช 2520 พระองค์ทรงได้รับการสถาปนาพระราชอิสริยยศและพระราชอิสริยศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้ามหาจักรี และตำแหน่งสยามบรมราชกุมารีแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงได้รับการเฉลิมพระนามว่า “สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธรรัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี” ทรงเป็นเจ้าฟ้าหญิงที่รับผิดชอบอย่างสูงต่อประชาชนและประเทศชาติ




  องค์อุปนายิกา สภากาชาดไทย 

ทรงแบ่งเบาพระราชภารกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ราษฎร โดยทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งองค์อุปนายิกา ผู้อำนวยการสภากาชาดไทย นอกจากนั้น พระองค์ยังทรงดำรงตำแหน่งองค์ประธานมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์อื่นๆ อีกมากมาย อาทิ มูลนิธิสายใจไทย มูลนิธิชัยพัฒนา




  สมเด็จเจ้าฟ้า ผู้สืบสานพุทธศิลป์  

ทรง เป็นสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงพระองค์แรกแห่งบรมราชจักรีวงศ์ ที่ทรงรับตำแหน่งแม่กองอำนวยการบูรณปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระ บรมมหาราชวัง โดยมีกรมศิลปากรรับมอบหมายดำเนินการ ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจอย่างตั้งใจ วางแผนการบูรณะ ตรวจตราการทำงาน และจัดหาทุนเพิ่มเติมด้วยพระองค์เอง จนงานแล้วเสร็จตามกำหนดการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในปีพุทธศักราช 2525




 ทูลกระหม่อมอาจารย์ 

ทรงเข้ารับราชการในฐานะอาจารย์ประจำส่วนการศึกษา โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า เมื่อปีพุทธศักราช 2523 โดยทรงสอนวิชาประวัติศาสตร์ไทยและสังคมวิทยา ทรงมีวิธีการสอนที่น่าสนใจโปรดให้นักเรียนซักถาม และยังทรงรับเป็นอาจารย์พิเศษให้แก่สถาบันการศึกษาต่างๆ อีกด้วย




  เอกอัครราชูปถัมภก มรดกวัฒนธรรมไทย 

ทรงปลูกฝังแนวพระราชดำริเรื่องการอนุรักษ์มรดกไทยตลอดมา และทรงเป็นปราชญ์ที่มีความรอบรู้ในวัฒนธรรมด้านต่างๆ อย่างลึกซึ้ง ทรงเป็นศิลปินผู้มีอัจฉริยภาพหลายสาขา เช่น วรรณศิลป์ สังคีตศิลป์ พระองค์จึงได้รับทูลเกล้าฯ ถวาย พระสมัญญา “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” ในปีพุทธศักราช 2531 และ “วิศิษฎศิลปิน” ในปีพุทธศักราช 2546




  ราชกุมารีนักพัฒนา  

เมื่อ เสด็จพระราชดำเนินไปยัง ท้องถิ่นทุรกันดารต่างๆ ได้ทรงเรียนรู้ปรัชญา ในการพัฒนาสังคม ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ ด้วยหวังจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชน ทั้งด้านโภชนาการ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม ทรงมุ่งมั่นพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนชาวไทยให้ดีขึ้น พระองค์จึงได้รับทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลรามอน แมกไซไซ สาขาบริการชุมชน ในปีพุทธศักราช 2534




 เจ้าหญิงนักอนุรักษ์ 

โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) ในโครงการส่วนพระองค์ฯ สวนจิตรลดา จัดตั้งขึ้นเพื่อปกป้องและรักษาพันธุ์พืชหายากไว้มิให้สูญพันธุ์ โดยทรงเล็งเห็นว่า การอนุรักษ์พันธุกรรมพืชนั้นต้องสร้างจิตสำนึกให้แก่เยาวชน ปลูกฝังให้เห็นความงดงามของพืชพรรณจนเกิดความปีติที่จะศึกษาและอนุรักษ์ต่อ ไป




  ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน 

 พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญา “ทูตสันถวไมตรีไทย-จีน” จากการเสด็จฯ เยือนประเทศจีนเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีในฐานะมิตรประเทศที่มี ความผูกพันกันมายาวนาน อีกทั้ง ยังทรงศึกษาภาษาและวัฒนธรรมจีนได้อย่างแตกฉาน ด้วยมิตรภาพระหว่างสองประเทศอันดียิ่งนี้ ประชาชนชาวจีนกว่าสองล้านคน จึงได้พร้อมใจกันยกย่องให้พระองค์เป็น “มิตรที่ดีที่สุดในโลก”




 ”สรัสปทุม” สร้างอาชีพ 

 ทรงเล็งเห็นปัญหาที่นักเรียนไทยขาดทักษะพื้นฐานด้านวิชาชีพ จึงมีพระราชดำริจัดตั้งโครงการ “สรัสปทุม” ขึ้นในปีพุทธศักราช 2553 โดยการน้อมนำแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ประชาชนอยู่ดีกินดี อบรมส่งเสริมทักษะอาชีพต่างๆ ให้สามารถนำไปต่อยอดในการทำงาน และสามารถพึ่งพาตนเองได้




ขอขอบคุณภาพพระสาทิสลักษณ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 เเละข้อมูล จาก

 http://www.chaoprayanews.com